Accessibility Tools

ศาลจังหวัดเชียงใหม่
ChiangMai Provincial Court

เกี่ยวกับหน่วยงาน
image

ศาลจังหวัดเชียงใหม่

ประวัติความเป็นมา/ข้อมูลทั่วไปของหน่วยงานimage

  ประวัติศาลจังหวัดเชียงใหม่

ประวัติศาลจังหวัดเชียงใหม่

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  ๕  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากระทรวงยุติธรรม  เมื่อวันที่   ๒๕   มีนาคม   ๒๔๓๔   แต่ได้รวบรวมกิจการศาลทั้งมวล       ในกรุงเทพมหานครมาขึ้นกับกระทรวงยุติธรรมเพียงแห่งเดียวก่อน  ครั้นเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มปรับปรุงกิจการศาลหัวเมืองตามพระธรรมนูญศาลหัวเมืองในปี พ.ศ. ๒๔๓๘  และแต่งตั้งข้าหลวงพิเศษจัดการศาลหัวเมืองออกไปควบคุมดูแลในปีต่อมา  ก่อนการปรับปรุงกิจการศาลหัวเมือง  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองใหม่  โดยรวบรวมหัวเมืองชั้นนอกจัดเป็นมณฑล  จังหวัดเชียงใหม่ขณะนั้นมีชื่อว่านครเชียงใหม่รวมอยู่ในหัวเมืองลานนาไทย  ประกอบด้วยนครลำปาง เมืองนครลำพูน  เมืองนครน่าน  เมืองแพร่  และเมืองเถิน  จนตั้งเป็นมณฑลเรียกว่า  มณฑลลาวเฉียง  ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๓๖  ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเรียกว่ามณฑลตะวันตกเฉียงเหนือและมณฑลพายัพตามลำดับ  และตั้งกองบัญชาการมณฑลอยู่ที่นครเชียงใหม่ การจัดราชการศาลมณฑลพายัพเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๑    โดยพระยาทรงสุรเดชข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลรวบรวมศาล  ๖  ศาลในหน่วยงานของยุติธรรม  มหาดไทย  วังคลัง  นา  และทหารมารวมอยู่ในศาลยุติธรรมแห่งเดียว  แล้วตั้งเจ้าบุรีรัตน์  ดำรงตำแหน่งอธิบดี  ผู้พิพากษากับตั้งศาลอุทธรณ์รับความอุทธรณ์จากศาลต่างๆ ในมณฑลพายัพ  ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหลวงจรรยายุตกฤตย์ (จำนง  อมาตยกุล)  เป็นอธิบดีผู้พิพากษาและเป็นข้าหลวงพิเศษจัดการศาลในมณฑลบูรพา  เมื่อแรกจัดการศาลในนครเชียงใหม่นั้นต้องประสบปัญหาขัดข้องจากผู้ปกครองในระบบเก่า  ซึ่งต่างไม่พอใจสภาพที่ตนเองถูกลิดรอนอำนาจในการพิจารณาตัดสินคดี  หลวงจรรยายุตกฤตย์ได้แก้ไขปัญหาโดยใช้วิธีตั้งชาวเมือง  เป็นต้นว่า  เจ้าบุรีรัตน์  พระยาจ่าบ้าน  พระยาสำภาวะ  และพระยามูนินทะเสน  ขึ้นเป็นผู้พิพากษาช่วยพิจารณาสะสางคดีความเก่าที่คั่งค้างอยู่  ทั้งที่ผู้พิพากษาเหล่านี้ไม่มีความรู้ในตัวบทกฎหมาย  เพื่อเป็นการลดความขัดแย้งและทำให้เกิดความคล่องตัวในการติดต่อราชการ  จนกระทั่งมีการแต่งตั้งผู้พิพากษาจากกรุงเทพมหานครขึ้นไป  และเปิดทำการพิจารณาพิพากษาคดี  เมื่อวันที่  ๑  กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๔๔๒  ต่อมาในวันที่  ๒๔  สิงหาคม  ปีเดียวกัน  เจ้าอุปราชเมืองเชียงใหม่ได้มีหนังสือถึงหลวงจรรยายุตกฤตย์ และพระยานริศรราชกิจ  ข้าหลวงรักษาราชการมณฑล  ขอแยกศาลกลับไปสังกัดตามแบบเดิม  หลวงจรรยายุตกฤตย์ทูลรายงานเรื่องนี้  มายังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์  เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม  ซึ่งไม่โปรดให้ข้าราชการมีเรื่องขัดแย้งกับชาวเมือง  กระทรวงมหาดไทยจึงได้ส่งพระยาศรีหเทพ  ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยขึ้นไปดำเนินการเป็นที่เรียบร้อย  จากนั้นหลวงจรรยายุตกฤตย์ได้มีโทรเลขทูลเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมว่า  ขอประทานอนุญาตกลับกรุงเทพมหานครพร้อมกับพระยาศรีสหเทพเพื่อคัดเลือกหาตัวบุคคลไปเป็นผู้พิพากษาศาลในมณฑลพายัพซึ่งจะตั้งขึ้น  จำนวน  ๖  ศาล

ต่อมากระทรวงมหาดไทยจึงได้ออกกฎเสนาบดีเป็นข้อบังคับสำหรับปกครองมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ  ลงวันที่  ๓๐  มิถุนายน  ๒๔๔๓  กำหนดให้มีข้าหลวงใหญ่ทำหน้าที่ตรวจและ     จัดราชการในมณฑลต่างพระเนตรพระกรรณ  และเป็นข้าหลวงพิเศษจัดการศาลยุติธรรมร่วมกับข้าหลวงยุติธรรมซึ่งดำรงตำแหน่งข้าหลวงพิเศษจัดการศาลยุติธรรม  โดยข้าหลวงยุติธรรมมีหน้าที่จัดการวางระเบียบข้อบังคับสำหรับศาลต่างๆในมณฑล  พิจารณาพิพากษาคดีความที่เกินกว่าอำนาจศาลเมือง     จะพิจารณาได้ในช่วงที่ยังไม่ได้จัดตั้งศาลมณฑล  พิจารณาพิพากษาความอุทธรณ์และมีอำนาจตั้ง         ผู้พิพากษาทำการในระหว่างที่ยังไม่ได้รับตราจากเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในระยะเวลาไม่เกิน           ๖  เดือน  และต่อมาได้เพิ่มอำนาจให้ข้าหลวงใหญ่และข้าหลวงยุติธรรมในมณฑลพายัพมีอำนาจในการออกกฎหมายได้โดยไม่ฝ่าฝืนพระราชกำหนดและขัดต่อสัญญาไมตรีระหว่างประเทศ  โดยได้รับพระบรมราชานุญาตก่อนหรือหลังจากออกกฎหมายแล้ว  ๖  เดือน  ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย  ลงวันที่  ๗  สิงหาคม  พ.ศ. ๒๔๔๓  ทั้งนี้เนื่องจากมณฑลพายัพตั้งอยู่ห่างไกลจากกรุงเทพมหานคร  และราชการบางอย่างจำเป็นต้องมีกฎข้อบังคับใช้เป็นระเบียบให้ทันเวลา  กระทรวงยุติธรรมจึงออกกฎเสนาบดี       ที่ ๙/๑๑๙  ลงวันที่  ๒๙  สิงหาคม  ๒๔๔๓  กำหนดอำนาจหน้าที่ของข้าหลวงใหญ่  ข้าหลวงยุติธรรม  และอธิบดีผู้พิพากษาเกี่ยวกับกิจการศาลในมณฑลพายัพไว้ว่า “.....ให้ข้าหลวงใหญ่และอธิบดีผู้พิพากษา  มีอำนาจออกกฎหมายแลกะที่ตั้งศาลจำนวนศาล  อำนาจศาลในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ.....” และ “.....ถ้าข้าหลวงใหญ่กับข้าหลวงยุติธรรมเห็นพร้อมกันว่าในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ  ควรจะตั้งศาลที่ใด  จะควรมีกี่ศาล  แลควรจะมีอำนาจเพียงใด  แล้วให้ตั้งศาล  กะจำนวนศาล  แลวางอำนาจศาลได้ตามสมควรแก่พระราชกำหนดกฎหมาย”  กิจการศาลในมณฑลพายัพคงจะดำเนินเรื่องมาตามอำนาจหน้าที่ของข้าหลวงพิเศษจัดการศาลยุติธรรมดังกล่าว

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ ให้แยกมณฑลพายัพออกเป็น ๒ มณฑล ตามประกาศเลิกมณฑลเพชรบูรณ์เข้าเป็นเมืองในมณฑลพิษณุโลก  และแยกมณฑลพายัพเป็นมณฑลมหาราษฎร์และมณฑลพายัพรวมเรียกว่า  มณฑลภาคพายัพ  มีตำแหน่งอุปราชเป็นผู้ตรวจกำกับราชการ  ลงวันที่  ๖  กันยายน  ๒๔๕๘  โดยแบ่งเนื้อที่ในมณฑลพายัพเดิม คือ เมืองนครน่าน  เมืองนครลำปาง  และเมืองแพร่  ตั้งขึ้นเป็นมณฑลมหาราษฎร์  ดังนั้นต่อมาจึงมีประกาศแก้    พระธรรมนูญข้าหลวงพิเศษและตั้งศาลมณฑลพายัพและศาลมณฑลมหาราษฎร์  ลงวันที่  ๓๐  มีนาคม  ๒๔๕๘  ให้ “ตั้งศาลมณฑลพายัพขึ้นที่เมืองเชียงใหม่ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบังคับอรรถคดีแพ่งกรณีอาณาครอบไปทั่วอาณาเขต เมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำพูน เมืองเชียงราย แลเมืองแม่ฮ่องสอน มีอธิบดีแลคณะผู้พิพากษารับผิดชอบบังคับราชการศาลมณฑลพายัพ....” และยกเลิกตำแหน่งข้าหลวงพิเศษประจำมณฑล ตั้งตำแหน่ง “ข้าหลวงพิเศษศาลยุติธรรม” ขึ้นแทนมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีและตรวจตราระเบียบราชการศาลได้ทั่วราชอาณาจักร

ศาลมณฑลพายัพที่ตั้งอยู่จังหวัดเชียงใหม่เปิดทำการตลอดมา  จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖  ลงวันที่  ๙  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๗๖  กำหนดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคแบ่งเป็นจังหวัดและอำเภอ  ยกเลิกการปกครองแบบมณฑล  ดังนั้นพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๖  ลงวันที่  ๑๔  มีนาคม  ๒๔๗๖  จึงระบุให้  “เลิกศาลมณฑลและให้ศาลมณฑลแต่เดิมมีฐานะเป็นศาลจังหวัดกับให้ยุบตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑล” และ “ให้มีข้าหลวงยุติธรรม มีอำนาจเหมือนอธิบดีผู้พิพากษา...” ศาลมณฑลพายัพจึงเปลี่ยนฐานะเป็นศาลจังหวัดเชียงใหม่มาจนปัจจุบัน

เดิมอาคารศาลจังหวัดเชียงใหม่เป็นอาคารสองชั้น  สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘  โดยนอกจากจะใช้เป็นที่ทำการศาลจังหวัดเชียงใหม่แล้ว  ยังใช้เป็นที่ทำการสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษา     ภาค ๕  ศาลแขวงเชียงใหม่  และสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ ๕  อีกด้วย  ภายหลังอาคารดังกล่าวคับแคบไม่สะดวกแก่ประชาชนผู้ที่มาติดต่อราชการ  และเฉพาะศาลจังหวัดเชียงใหม่ที่มีห้องพิจารณาคดีเพียง ๙ ห้อง  ไม่เพียงพอกับปริมาณงานและอรรถคดีซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  กระทรวงยุติธรรมจึงได้ดำเนินการของบประมาณก่อสร้างอาคารที่ทำการของศาลจังหวัดเชียงใหม่ขึ้นใหม่  และได้รับงบประมาณให้ก่อสร้างตามที่ขอ

ศาลจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน

ปัจจุบันศาลจังหวัดเชียงใหม่  ตั้งอยู่บนถนนโชตนา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่  อาคารศาลจังหวัดเชียงใหม่  มีลักษณะเป็นอาคารแฝด  หลังคาทรงไทยสูง  ๓  ชั้น  และมีชั้นใต้ดิน อีก  ๑  ชั้น  ขนาด  ๒๕  บัลลังก์  กว้าง  ๓๘  เมตร   ยาว  ๙๒  เมตร  เริ่มทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑  ธันวาคม  ๒๕๒๓  และสร้างเสร็จเมื่อวันที่  ๘  กุมภาพันธ์  ๒๕๒๖  จำนวนเงินค่าก่อสร้าง  ๖๗,๘๗๐,๐๐๐  บาท  เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม  ๒๕๒๗  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว     ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารใช้เป็นที่ทำการสังกัดสำนักงานอธิบดี       ผู้พิพากษาภาค  ๕  ศาลจังหวัดเชียงใหม่   สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่  สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่  ๕   และสำนักงานคุมประพฤติภาค  ๕   

ภายหลังที่ได้แยกสำนักงานศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม  สำนักงาน         คุมประพฤติจังหวัดเชียงใหม่  สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่  สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่  ๕  จึงได้ย้ายออกไปจากศาลจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ได้รับจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างอาคารที่ทำการและย้ายออกไปจากศาลจังหวัดเชียงใหม่ไปอยู่อาคารที่ทำการใหม่แล้ว   

เขตอำนาจของศาลจังหวัดเชียงใหม่

                  ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีอำนาจหน้าที่  ในการพิจารณาและพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวง โดยมีเขตท้องที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบ คือ

                    ๑.  อำเภอเมืองเชียงใหม่                   ๒.  อำเภอแม่แตง    

                    ๓.  อำเภอเชียงดาว                         4.  อำเภอพร้าว        

                    5.  อำเภอสันทราย                          6.  อำเภอดอยสะเก็ด

                    7.  อำเภอหางดง                           8.  อำเภอสันป่าตอง            

                    9.  อำเภอเวียงแหง                         10. อำเภอสันกำแพง

                    11. อำเภอแม่ริม                           12. อำเภอสารภี       

                    13. อำเภอแม่วาง                          14. อำเภอสะเมิง                

                    15. อำเภอดอยหล่อ                        16. อำเภอแม่ออน     

                    17. อำเภอกัลยาณิวัฒนา